บทที่ ๖ การพูดในโอกาสต่าง ๆ

การที่เราต้องอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น ย่อมมีโอกาสที่จะต้องพูด ยิ่งถ้าเราเติบโตขึ้น มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้นหรือ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของครอบครัวมากขึ้น ก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องพูดในโอกาสต่าง ๆ เพื่อมารยาททางสังคม เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ฟัง หรือเพื่อเป็นเกียรติแก่งานและผู้ฟัง การรู้จักพูดให้ถูกกาลเทศะ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะศึกษาไว้อย่างยิ่ง เพื่อจะได้พูดได้ถูกต้อง ไม่เก้อเขิน สอดคล้องกับบรรยากาศ ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ฟัง
การพูดในโอกาสต่าง ๆ มีดังนี้
๑. การกล่าวแนะนำ
๒. การกล่าวให้เกียรติหรือมอบรางวัล
๓. การกล่าวตอบรับ
๔. การกล่าวต้อนรับ
๕. การกล่าวตอบการต้อนรับ
๖. การกล่าวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
๗. การกล่าวอวยพร
๘. การกล่าวอำลา
๑. การกล่าวแนะนำ
   การกล่าวแนะนำมักจะใช้ในการแนะนำบุคคลที่เราได้เชิญมาพูดในโอกาสต่าง ๆ เช่นผู้อภิปราย  ผู้บรรยาย ผู้โต้เวที หรือผู้เข้าสัมมนา ฯลฯ จุดมุ่งหมายของการแนะนำ ก็คือเพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ “ ผู้พูด ” และ สนใจ “ เรื่องที่จะพูด ” ผู้แนะนำจะต้องเป็นผู้จุดประกายไฟแห่งความตื่นเต้นให้เกิดขึ้น ทำให้ผู้ฟังอยากฟัง ผู้แนะนำจึงต้องมีวาทศิลป์ในการแนะนำตัวผู้พูด และต้องพูดอย่างสุภาพ

หลักการพูดแนะนำ
๑. วิเคราะห์ทั้งผู้ฟัง โอกาสในการพูด ผู้ที่เชิญให้พูด และลักษณะของเรื่องที่จะพูดผู้แนะนำต้องแนะนำตัวผู้พูดให้เหมาะกับลักษณะและอารมณ์ของผู้ฟัง ให้เหมาะกับโอกาสที่จัดขึ้น เหมาะสมกับบุคลิกภาพและชื่อเสียงของผู้พูดและสอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่จะพูด ควรขอคำแนะนำจากผู้เชิญให้พูดเสียก่อนว่าอยากให้แนะนำเกี่ยวกับอะไรบ้างและอะไรไม่ควรแนะนำ ตรวจทานรายละเอียดที่จำเป็นในการแนะนำให้ถูกต้องเสียก่อน
๒. ควรแนะนำสั้น ๆ แต่ให้มีเนื้อหาครบถ้วน โดยใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๒๐ วินาที และไม่เกิน๒ นาที  ถ้าผู้พูดเป็นบุคคลที่ผู้ฟังรู้จักดีแล้วก็ควรแนะนำให้สั้น ๆ เช่น “ ท่านเคยสอบติดบอร์ด แห่งประเทศไทยในอันดับต้น ๆ และยังสอบเอนทรานซ์เข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในลำดับที่ ๑ อีกด้วย หลังจากนั้นท่านได้เรียนเพียง ๓ ปีครึ่ง ก็สำเร็จการศึกษาออกมาทำงานในวิชาชีพบัญชีจนประสบความสำเร็จและมีกิจการสำนักงานบัญชีของท่านเองในปัจจุบัน จึงนับว่าวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ท่านจะมาบรรยายเรื่อง“ การเรียนบัญชีให้ประสบความสำเร็จ ” ให้นักเรียนนักศึกษาทุกท่านได้ฟัง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้ผู้จะพูดรู้สึกขวยเขินเพราะคำยกยอจนเกินควร เพียงให้อยู่ในขนาดที่เรียกร้องให้เกิดความสนใจที่จะฟัง
๓. ควรแนะนำโดยการพูดปากเปล่า ไม่ควรใช้วิธีอ่านจากเอกสารที่เตรียมไว้และไม่ควรใช้วิธีท่องจำมาพูด เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้แนะนำให้ความสนใจต่อผู้พูดอย่างจริงจัง ควรแนะนำจากความทรงจำโดยกล่าวแต่เรื่องสำคัญ ๆ ที่น่าสนใจและไม่ยืดยาวนัก ผู้แนะนำต้องแสดงกิริยาท่าทางประกอบที่แสดงออกมาว่ามีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะฟังการแนะนำต้องพูดแนะนำผู้พูดต่อคนฟัง การเอ่ยชื่อผู้พูดและเรื่องราวที่จะพูดควรเน้นเสียงให้ชัดเจนเป็นพิเศษ
๒. การกล่าวให้เกียรติหรือมอบรางวัล
    เป็นการพูดในโอกาสที่มีการมอบทุน ให้รางวัล ให้เกียรติ หรือทำพิธีระลึกถึงคุณงามความดีแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง มักจะมีการพูดเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้รับรางวัล ได้รับทุน หรือรางวัลเกียรติยศนั้น มักจะใช้เวลาในการพูดประมาณ ๕-๖ นาที โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
๑. กล่าวถึงเหตุผลในการมอบ เช่น ความสำคัญของทุนหรือรางวัล ความดีของผู้ได้ รับเกียรตินั้น ต้องเป็นการพูดอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง
๒. แสดง “ ความพอใจ ” ให้เกียรติที่มอบให้ ผู้พูดต้องระบุให้ชัดว่าใครคือบุคคลที่ได้ รับเกียรตินี้เพื่อเป็นการแสดงว่า ผู้ให้ตระหนักถึงคุณความดีนั้นอย่างแท้จริง และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติคุณ แก่ผู้ได้รับรางวัลหรือของขวัญ
๓. มอบของขวัญหรือรางวัล เมื่อได้กล่าวต่อผู้ฟังจบแล้ว ควรหันไปพูดกับผู้ได้รับทุนหรือผู้ได้รับรางวัลนั้นโดยตรง ด้วยเสียงที่ดังพอจะได้ยินกันอย่างทั่วถึง พร้อมกับทำการมอบของขวัญหรือของรางวัลให้เขา
๓. การกล่าวตอบรับ
  ผู้ที่ได้รับทุน หรือรางวัลเกียรติคุณ มักจะกล่าวตอบรับเพื่อแสดงความพอใจและขอบคุณผู้ให้ ซึ่งควรพูดสั้น ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพในขณะนั้น โดยอาศัยแนวทางต่อไปนี้
๑. แสดงความขอบคุณและความพอใจ ที่ได้รับของขวัญหรือรางวัลดังกล่าวในลักษณะที่ว่ารางวัลที่ได้รับนี้นอกจากจะมีประโยชน์ในตัวเองหรือมีประโยชน์ต่อผู้รับแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำใจหรือความปรารถนาดีสูงส่งอีกด้วย ควรใช้ภาษาง่าย ๆ ชัดเจนจริงใจ
๒. ควรพูดอย่างถ่อมตนและยกย่องผู้ร่วมงาน มารยาทของผู้รับรางวัลที่ดีนั้น คือ ต้องไม่โอ้อวดความสามารถของตนจนเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรถ่อมตนจนไร้ความหมาย ควรสรรเสริญชมเชยผู้ร่วมงานที่ได้ให้ความช่วยเหลือจนเป็นผลสำเร็จ
๓. สรรเสริญผู้ให้ของขวัญหรือรางวัลด้วยความสุจริตใจ โดยกล่าวถึงผลงานและความปรารถนาดีของผู้ให้
๔. กล่าวสรุป เน้นถึงความพึงพอใจที่ได้รับของขวัญหรือรางวัลนั้น ขณะที่พูดก็ควรมองไปยังของขวัญหรือรางวัลนั้นด้วย

หมายเหตุ ในกรณีที่ผู้มอบรางวัลต้องกล่าวตอบ มีหลักเกณฑ์ว่าให้กล่าวขอบคุณสำหรับรางวัลที่ได้รับ  กล่าวชมเชยและขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ได้ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจจนได้รางวัลและจะพยายามทำประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติตลอดไป
๔. การกล่าวต้อนรับ
   การกล่าวต้อนรับจะใช้ในกรณีที่มีบุคคลสำคัญหรือคณะบุคคลมาประชุม เยี่ยมชมกิจการหรือใช้กับผู้ร่วมงานใหม่ ๆ เป็นการกล่าวต้อนรับเพื่อแสดงความปรารถนาดีและทำให้ผู้มาเยือนเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ  ไม่ควรพูดยาวนัก และต้องมีการเตรียมล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
๑. กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้มาเยือน
๒. กล่าวสรรเสริญหรือยกย่องผู้มาเยือน เช่นเป็นใคร มีผลงานดีเด่นอะไรมีความสัมพันธ์อย่างไรกับผู้ต้อนรับ โดยอธิบายหน่วยงานหรืองานอย่างย่อ ๆ
๓. แสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสให้การต้อนรับในครั้งนี้ ควรกล่าวเพียงสั้น ๆ ย้ำการต้อนรับอีกครั้งหนึ่ง
๔. ขออภัยหากมีสิ่งใดบกพร่องไป และหวังว่าผู้มาเยือนจะกลับมาเยือนอีก
๕. การกล่าวตอบการต้อนรับ
    ในการกล่าวต้อนรับ มักจะเป็นการกล่าวขอบคุณอย่างสั้นๆ จากแขกผู้มาเยือน ซึ่งต้องพูดให้สอดคล้องกับการพูดต้อนรับนั้น ๆ ส่วนมากต้องพูดแบบฉับพลัน ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท จึงควรได้เตรียมตัวหัวข้อในการพูดไว้ล่วงหน้า คือ
๑. แสดงความยินดีที่ได้มาเยือน
๒. แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อเกียรติที่ได้รับ
๓. กล่าวสรรเสริญผู้ที่ให้การต้อนรับ เช่น กล่าวถึงชื่อเสียงขององค์กร หรือคุณงามความดีของสถาบันนั้น ๆ
๔. กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้จากการมาเยือนครั้งนี้ โดยเน้นจุดเด่น ๆ บางประการ
๕. กล่าวเชื้อเชิญผู้ต้อนรับให้กลับมาเยือนตนบ้าง
๖. การกล่าวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
    ผู้ที่ได้รับตำแหน่งใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้า ควรจะเรียกผู้ใต้บังคับบัญชามาประชุมกันเพื่อแถลงนโยบาย และแผนงานการดำเนินงาน และจะมีผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกันต่อไป การพูดในวาระการเข้ารับตำแหน่ง มีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑. กล่าวยินดีที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคณะผู้ใต้บังคับบัญชา
๒. กล่าวยกย่องหรือกล่าวถึงคุณค่าของสถาบัน หรือของสถานที่ที่ตนได้มาทำงาน
๓. กล่าวถึงหลักการ นโยบาย อุดมการณ์ทำงานของตน
๔. พูดให้ความสำคัญแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน และเชิญชวนให้มาร่วมใจในการทำงานเพื่อความก้าวหน้าของหน่วยงาน
๗. การกล่าวอวยพร
    การกล่าวอวยพร มักใช้ควบคู่ไปกับการแสดงความยินดี หรือแสดงความปรารถนาดี เพราะถ้าจะอวยพรมักต้องแสดงความยินดีก่อน หรือถ้าเป็นการกล่าวแสดงความยินดีโดยแท้จริงก็มักจะลงท้ายด้วยการอวยพร
การอวยพรมีหลายโอกาส เช่น ในงานมงคลสมรส งานวัด งานวันขึ้นปีใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ ตลอดจนการอวยพรของผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งมักเรียกกันว่า คำอวยพร หมายถึงการให้ศีล ให้พร แก่ลูกหลาน ลูกศิษย์ผู้ใต้บังคับบัญชา
  หลักทั่วไปในการพูดให้พร
๑. ขึ้นไปพูดด้วยท่าทีร่าเริงเป็นการแสดงความยินดีไปในตัว
๒. เริ่มต้นด้วยเสียงค่อนข้างดังเล็กน้อย เป็นการเรียกความสนใจ เพราะงานชนิดนี้มักมีเสียงรบกวนมาก ข้อความตอนต้นควรเป็นใจความง่าย ๆ สั้น ๆ
๓. การดำเนินเรื่องให้เป็นไปตามความเหมาะสม เช่น   –  ถ้าเป็นงานวันเกิดควรกล่าวความสำคัญในวันเกิด แล้วพูดถึงคุณงามความดี และเกียรติคุณของเจ้าภาพตามสมควร
–  ถ้าเป็นงานแต่งงานควรเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของท่านกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ถ้าบังเอิญเกิดรู้จักดีทั้งคู่ ถ้ามีประสบการณ์มากพอให้ข้อคิดในชีวิตสมรส แล้วกล่าวแสดงความยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้สมรสกันอันจะเป็นการก่อสร้างรากฐานเป็นครอบครัวที่ดีต่อไป
๔. ลงท้ายด้วยการกล่าวคำอวยพร ขอให้มีความสุขความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไป
๕. อาจมีการดื่มอวยพรปิดท้ายคำกล่าวอวยพรด้วยก็ได้

๘. การกล่าวอำลา
   ในกรณีที่ต้องจากถิ่นที่เคยอยู่ไปนาน เพื่อไปประกอบธุรกิจ รับราชการ หรือไปประจำ
ณ สถานที่อื่น ถ้ามีการจัดเลี้ยงส่งและมีการมอบของขวัญที่ระลึก ก็ควรมีการพูดขอบคุณที่ได้รับของขวัญนั้นและกล่าวคำอำลา แนวการพูดอย่างกว้าง ๆ มีดังต่อไปนี้
๑. แสดงความเสียใจที่ต้องจากไป ควรบอกให้ทราบว่าทำไมจึงไม่อยากจะจากไปกล่าวถึงความสุขที่ได้รับและความคุ้นเคยที่มีอยู่กับบุคคลต่าง ๆ ในที่นั้น เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจในขณะที่ได้อยู่มาช้านาน และคงระลึกถึงด้วยความสุขความภูมิใจตลอดไปควรเตรียมไว้ล่วงหน้าให้ดี อย่าพูดเพ้อเจ้อและไม่ซาบซึ้งจริงจัง
๒. สรรเสริญคณะผู้จัดหรือร่วมเลี้ยงส่งจากใจจริง
๓. คาดว่าความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่ยังคงมีตลอดไป โดยแสดงความมั่นใจว่าแม้จะจากไปแต่ความสัมพันธ์ที่มีอยู่ไม่มีวันจางหาย หากผู้ใดผ่านไปในสถานที่ที่จะไปอยู่ใหม่ขอให้แวะเยี่ยมเยียน
๔. กล่าวสรุป โดยกล่าวอำลาและอวยพร หากนึกอะไรไม่ได้ก็อาจใช้คำพูดที่นิยมใช้กันเสมอ คือ “ ขอลาก่อน ขอให้ท่านทั้งหลายจงอยู่สุขสวัสดี ”ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์  มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิตแม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตรจะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
( จาก นิราศภูเขาทอง ของ สุนทรภู่ )

ดาวน์โหลด   ดาวน์โหลด (3)   ดาวน์โหลด (2)   ดาวน์โหลด (1)

Leave a comment